เชิญชมนิทรรศการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิต ในหลวงรัชกาลที่ 9 (Royal Cremation Exhibition for His Late Majesty King Bhumibol Adulyadej, Rama IX)

0
ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวชม นิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิต ในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ มณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวงมาแล้ว เลยจะขอใช้พื้นที่บนเว็บบล็อกนี้ได้แชร์ข้อมูลต่างๆที่ได้รับมาและยังเป็นการบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ผมเองก็ได้มีส่วนเข้าไปชมนิทรรศการในครั้งนี้ด้วย

ในการเข้าชมนิทรรศการฯผู้เข้าชมทุกคนต้องแต่งกายในชุดสุภาพเรียบร้อย และแสดงบัตรประจำตัวประชาชนในการผ่านจุดคัดกรองซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 จุด ได้แก่

สำหรับประชาชนทั่วไป
1. หน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์
2. ท่าช้าง
3. วงเวียนรักษาดินแดน, 

สำหรับพระภิกษุและผู้พิการ
4. ถนนหน้าพระธาตุฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์

สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
5. บริเวณด้านหลังกระทรวงกลาโหม

เมื่อผ่านจุดคัดกรองแล้วเราก็เดินไปที่ประตูทางเข้านิทรรศการฯ ซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือตรงข้ามกับอนุสาวรีย์พระแม่ธรณีบีบมวยผม ส่วนทางออกอยู่ตรงข้ามกับศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร พอผ่านประตูทางเข้าแล้วเจ้าหน้าที่จะแจกฟรี น้ำดื่ม, แซนด์วิช, ยาอมสมุนไพร, แผ่นพับนำชมนิทรรศการ และบัตรผู้ร่วมงาน ให้กับผู้เข้างานทุกท่าน ถ้าเราไปสายแล้วอาจจะได้รับแจกแค่ น้ำดื่ม, แผ่นพับ และบัตรผู้ร่วมงานเท่านั้น หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ให้เราเดินไปยังเต้นท์ที่เป็นจุดนั่งพักคอยเพื่อรอรอบของการเข้าชม ซึ่งคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือรอบเดียวกันดูได้จากสีของบัตรผู้ร่วมงาน ยกตัวอย่างผมได้บัตรผู้ร่วมงานสีเหลือง และในช่วงนี้บางวันอาจจะมีฝนตกลงมาบ้าง ทางเจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมร่มไว้คอยบริการให้ด้วย
เมื่อเราเดินแถวเข้าสู่พื้นที่นิทรรศการแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ให้ประชาชนเดินชมได้อย่างอิสระเฉพาะในบริเวณขอบเขตที่ได้กำหนดไว้แล้วเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งจะให้เวลา 15 นาทีกับประชาชนได้ถ่ายรูปที่บริเวณด้านหน้านิทรรศการ ทางด้านขวามือเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากต้นน้ำ สู่ปลายน้ำ ซึ่งประกอบไปด้วย การพัฒนาดินด้วยหญ้าแฝก, คันนารูปเลข 9 ไทยสีดินอมทอง (ถ้ามองจากบนฟ้าลงมาจะเห็นเลข 9 ชัด), แปลงนาข้าวสาธิตที่มีการเติบโตอยู่ 3 ระยะ ได้แก่ กล้า แตกกอ และออกรวง, ใกล้กับแปลงนามีฝายชะลอน้ำ หรือฝายแม้วไหลลงแอ่งน้ำด้านล่างที่เรียกว่า "แก้มลิง" และมีเครื่องกังหันน้ำชัยพัฒนาจำนวน 2 เครื่องพร้อมเครื่องกลเติมอากาศ รายล้อมไปด้วยนาข้าวอันเขียวชอุ่ม
ทางด้านซ้ายมือเป็นอาคาร "พลับพลายกสนามหลวง (PHLAB PHLA YOK SANAM LUANG or VIEWING PAVILION)" เป็นอาคารโถงผังตรีมุขมีปะรำยื่นออกไปทั้งสองด้าน ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จฯประทับระหว่างการอัญเชิญพระโกศพระบรมศพลงจากพระมหาพิชัยราชรถลงสู่ราชรถปืนใหญ่
หมดเวลา 15 นาทีเราก็เดินต่อตรงเข้าไปในส่วนพื้นที่พระเมรุมาศ ซึ่งจะให้เวลาชมนิทรรศการในส่วนนี้เป็นเวลา 45 นาทีโดยไม่มีการให้ขึ้นชมพระเมรุมาศแม้แต่ชั้นเดียว เข้ามาแล้วทางด้านซ้ายมือเป็นอาคาร "ศาลาลูกขุน แบบที่ 1 (SALA LUK KHUN TYPE 1 or HIGH-RANKING GOVERNMENT OFFICIALS' PAVILION)" เป็นศาลาสำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จและร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ภายในศาลาจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการวางแผนผังบริเวณและภูมิทัศน์ (CEREMONIAL GROUNDS), อาคารประกอบมณฑลพิธี (STRUCTURES IN THE CEREMONIAL GROUND, ความรู้เกี่ยวกับพระเมรุมาศในอดีต (ROYAL CREMATORIUMS IN THE PAST) และพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ROYAL CREMATORIUM FOR HIS LATE MAJESTY KING BHUMIBOL ADULYADEJ, RAMA IX)
ส่วนทางด้านขวามือก็เป็นศาลาลูกขุน แบบที่ 1 เช่นเดียวกับศาลาด้านซ้ายมือ เป็นศาลาสำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จและร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ภายในจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับงานประณีตศิลป์ในส่วนของการจัดสร้าง  หีบพระบรมศพจันทน์, พระโกศจันทน์, พระโกศทองคำ เครื่องสังเค็ด และวัสดุอุปกรณ์ในการทำต่างๆ รวมถึงฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงถักตาข่ายดอกรักชั้นที่ 9 และโต๊ะเก้าอี้ทรงงานของท่านอีกด้วย
เดินออกมาตรงกลางเราจะพบกับพระเมรุมาศ (ด้านทิศเหนือ) เป็นอาคารสีทองอร่ามทรงบุษบก 9 องค์ ตั้งอยู่บนฐานชาลาสี่เหลี่ยมจัตุรัส 4 ชั้น มีบันไดทางขึ้น 4 ทิศ ยอดบนสุดประดิษฐานพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ภายในมีพระจิตกาธานประดิษฐานพระโกศพระบรมศพ ผนังสี่ด้านติดตั้งฉากบังเพลิงมีรูปเขียนที่สวยสดงดงาม  ฐานชาลาชั้นที่ 3 เป็นที่ตั้งช่างหรือสำช่างทรงบุษบกชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น 4 องค์ ฐานชาลาชั้นที่ 2 มีหอเปลื้องทรงบุษบกชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น 4 องค์ขนาดย่อมลงมา ฐานชาลาชั้นล่างมีสัตว์มงคลประจำทิศรอบฐานพระเมรุมาศ เราสามารถเดินชมถ่ายรูปรอบพระเมรุมาศได้ทั้งสี่ทิศ
เราสามารถถ่ายรูปรอบๆพระเมรุมาศได้โดยเดินเวียนขวาของพระเมรุมาศตามที่เจ้าหน้าที่กำหนดเอาไว้ จากนั้นเราก็ไปชมนิทรรศการภายในศาลาลูกขุน แบบที่ 1 ทางด้านทิศใต้ของพระเมรุมาศอีก 2 ศาลากัน ศาลาลูกขุนทางทิศใต้ด้านซ้ายมือมีการจัดแสดงเรื่องราว วิธานสถาปกศาลา หรือ โรงขยายแบบ ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับ การขยายแบบเท่าจริง (ENLARGEMENT TO ACTUAL SIZE), การออกแบบลวดลายศิลปกรรม (CREATING THE ARTISTIC DESIGNS), การก่อสร้างพระเมรุมาศและอาคารประกอบ (CONSTRUCTION OF THE ROYAL CREMATORY AND SUPPLEMENTARY STRUCTURES), โครงสร้างพระเมรุมาศ (STRUCTURE OF THE ROYAL CREMATORIUM) และ องค์ประกอบสถาปัตยกรรมแบบชั่วคราว (TEMPORARY ARCHITECTURAL COMPONENTS) นอกจากนี้ยังจัดแสดงโต๊ะเขียนแบบของ อาจารญ์ประเวศ ลิมปรังษี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ และ ม้านั่งของ อาจารย์อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรมไทยอีกด้วย
เราไปต่อกันที่ศาลาลูกขุนทางทิศใต้ด้านขวามือมีการจัดแสดงเรื่องราวด้าน ประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ (SCULPTURAL WORKS DECORATING PHRA MERU MAS (THE ROYAL CREMATORIUM) และ ประติมากรรมประดับรอบพระเมรุมาศ (CREATION OF SCULPTURES AROUND PHRA MERU MAS (THE ROYAL CREMATORIUM) ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับ ขั้นตอนการปั้น (SCULPTING), ขั้นตอนการหล่อ (CASTING) และ ขั้นตอนการสงสี (PAINTING)
ทางด้านทิศใต้นี้ยังมีศาลาลูกขุน แบบที่ 2 (SALA LUK KHUN TYPE 2 or HIGH-RANKING GOVERNMENT OFFICIALS' PAVILION) เป็นอาคารโถงไม่มีผนัง สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้ารับเสด็จฯและร่วมพระราชพิธี ภายในอาคารจัดแสดงงานจิตรกรรมประดับพระเมรุมาศที่สวยงาม
เรายังคงเดินเวียนขวาต่อเพื่อไปเที่ยวชมนิทรรศการ "พระผู้ทรงเป็นนิรันดร์" ที่อาคารพระที่นั่งทรงธรรม ภายในอาคารได้จัดแสดงเรื่องราว พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยแบ่งพื้นที่จัดเป็นนิทรรศการย่อยออกเป็น 5 โซนได้แก่

  • โซนที่ 1 "เมื่อเสด็จอวตาร (The Great Monarch)" นิทรรศการพระราชประวัติตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
  • โซนที่ 2 "รัชกาลที่ร่มเย็น (The Peaceful Reign)" นิทรรศการจากหนังสืออุปกรณ์ทรงงาน (ชุดที่ 1)
  • โซนที่ 3 "เพ็ญพระราชธรรม (The Righteous King)" นิทรรศการธรรมราชา พระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม
  • โซนที่ 4 "นำพระราชไมตรี (Furthering the Bonds of Friendship)" นิทรรศการจากหนังสืออุปกรณ์ทรงงาน (ชุดที่ 2)
  • โซนที่ 5 พระจักรีนิวัตฟ้า (A Chakri King Returns to his Heavenly Abode) นิทรรศการสืบสานสมานมิตร เล่าเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินไปเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ

ซึ่งโซนต่างๆก็มี ภาพพระบรมฉายาลักษณ์, ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์, ภาพสามมิติ, ภาพจิตรกรรมฝาผนัง และมีโต๊ะทรงงานที่จำลองมาให้เราได้ชมด้วย พระที่นั่งทรงธรรมเป็นอาคารเดียวในงานนิทรรศการนี้เท่านั้นที่ติดเครื่องปรับอากาศอยู่ภายในอาคาร การเดินชมกำหนดให้เดินเข้าอาคารทางทิศใต้ ผ่านโถงกลาง และออกทางทิศเหนือ
เมื่อออกจากพระที่นั่งทรงธรรมแล้วเราก็จะเจอกับศาลาลูกขุน แบบที่ 2 ทางทิศเหนือซึ่งเหมือนกับศาลาลูกขุนที่อยู่ทางทิศใต้ ภายในอาคารนี้จัดแสดงเรื่องราว ยาตรากฤษฎาธาร การบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ (PROCESSIONS THAT GLORIFY HIS LATE MAJESTY: RESTORATION OF THE ROYAL CHARIOTS AND PALANQUINS) ซึ่งมีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับ งานประณีตศิลป์ประกอบราชรถและพระยานมาศ (CONSTRUCTION AND RESTORATION OF THE ROYAL CHARIOTS AND PALANQUINS), พระที่นั่งราเชนทรยาน และ พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย

นอกจากอาคารหลักๆดังที่กล่าวมาแล้วนั้นยังมีอาคาร ทิม (THIM or MULTI-PURPOSE PAVILION) เป็นอาคารสำหรับ พระสงฆ์, แพทย์หลวง และ เจ้าพนักงาน ใช้พักระหว่างพระราชพิธี อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งวงปี่พาทย์ที่ประโคมในพระราชพิธีด้วย ทิมสร้างติดแนวรั้วราชวัติวางเรียงเป็นแนวต่อเนื่องกับรั้วราชวัติและทับเกษตร ตัวอาคารเป็นทรงยาวทำหน้าที่เป็นเสมือนกรอบกำแพงของมณฑลพิธี
หลังจากที่ใช้เวลาทั้งหมด 1 ชั่วโมงเดินเที่ยวชมจนทั่วแล้วก็ได้เวลาออกจากนิทรรศการฯ เพื่อให้ผู้เข้าชมรอบต่อไปได้ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามารับความรู้ต่างๆและสัมผัสกับความงดงามของงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพกันทุกๆคน สำหรับท่านที่กังวลเรื่องห้องน้ำและการเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ต้องเป็นห่วงครับ เพราะที่นี่มีห้องสุขาและเต็นท์พยาบาลไว้รองรับประชาชนที่เข้ามาเยี่ยมชมนิทรรศการฯนี้ และคนชราหรือคนพิการที่ต้องนั่งรถเข็นก็สามารถมาเที่ยวชมได้เช่นเดียวกันครับ
การใช้เวลาเข้าชมนิทรรศการในครั้งนี้นับเป็นช่วงเวลาที่มีค่าอย่างยิ่ง และถือเป็นสิริมงคลยิ่งของชีวิต ที่นับจากนี้ไปเมื่อมองย้อนกลับมากาลครั้งหนึ่ง ได้เคยเข้ามากราบไหว้และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อหน้าพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิต ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีการสืบทอดตามโบราณราชประเพณีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงปัจจุบัน... สวัสดีครับ ^_^

แสดงความคิดเห็น

0ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น (0)