เนื่องจากครั้งนี้เป็นครั้งแรกของเราในการเข้าไปชม ปรากฏการณ์พระอาทิตย์ตกส่องแสงลอดช่องทั้ง 15 ประตู ของ ปราสาทพนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ดังนั้นเราจึงไม่มีข้อมูลอื่นๆ เช่น เวลาเดินทางไปถึงที่เหมาะสม บริเวณพื้นที่ๆจะยืนดู หรือแม้กระทั้งพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว ในจังหวะที่พระอาทิตย์ส่องแสงลอดช่องพอดี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็น่าจะทำให้ผู้ที่ไปครั้งแรก ไม่พลาดชมและได้รูปสวยๆกลับมาไม่มากก็น้อย
ปรากฏการณ์พระอาทิตย์ขึ้น/ตก ส่องแสงลอดผ่าน 15 ช่องประตู
การเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ ปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งจะเกิดเป็นประจำทุกปีๆละ 4 ครั้ง ดังนี้
- ครั้งที่ 1 พระอาทิตย์ตก ระหว่างวันที่ 5 – 7 มีนาคม เวลาประมาณ 18:15 น.
- ครั้งที่ 2 พระอาทิตย์ขึ้น ระหว่างวันที่ 3 – 5 เมษายน เวลาประมาณ 06:03 น.
- ครั้งที่ 3 พระอาทิตย์ขึ้น ระหว่างวันที่ 8 – 10 กันยายน เวลาประมาณ 05:57 น.
- ครั้งที่ 4 พระอาทิตย์ตก ระหว่างวันที่ 5 – 7 ตุลาคม เวลาประมาณ 17:55 น.
ทริปแรกเราเลือกไปในช่วงครั้งที่ 3 ถ้าถามว่าทำไมถึงเลือกไปครั้งนี้ ผมไม่มีเหตุผลให้แค่อยากจะไปก็ไปเลยเท่านั้นเอง เราเดินทางไปถึงปราสาทแต่ไม่ได้เข้าไปชมปรากฏการณ์ เพราะฝนตกปรอยๆและเห็นท้องฟ้าเต็มไปด้วยก้อนเมฆในฤดูฝน ทริปถัดไปเราจึงไม่เลือกช่วงครั้งที่ 3 กับ 4 เพราะเรื่องฤดูกาลเราจึงคิดว่าโอกาสได้เห็นน่าจะยาก
ดังนั้นจึงเหลือครั้งที่ 1 (พระอาทิตย์ตก) กับครั้งที่ 2 (พระอาทิตย์ขึ้น) รวมทั้งหมด 6 วัน ถ้าจะชมตอนพระอาทิตย์ตกเราจะต้องยืนดูจากลานด้านหน้าของปราสาท แต่ถ้าจะชมตอนพระอาทิตย์ขึ้นจะต้องยืนดูจากลานด้านหลังของปราสาท เราเลือกไปชมตอนพระอาทิตย์ตก เพราะว่าไม่อยากตื่นแต่เช้ามืด และภาพน่าจะสวยงามกว่าดูจากด้านหลังปราสาท
ทริปที่สองเราว่างวันที่ 5 วันเดียวเลยทำให้มีโอกาสที่จะได้เห็นเพียงครั้งเดียว เราเดินทางไปถึงที่จอดรถของปราสาทพนมรุ้งเวลา 16:00 น. จากนั้นก็ซื้อตั๋วและเดินเข้าไปถึงยังลานด้านหน้าปราสาทเวลา 16:20 น. ถ้าหากคุณต้องการถ่ายภาพโดยใช้ขาตั้งกล้อง ตอนนี้เป็นเวลาที่ดีในการจับจองจุดวางขาตั้งกล้อง แต่ถ้าไม่ใช้ขาตั้งกล้องก็สามารถเดินเล่นชมปราสาทก่อนก็ได้
พอถึงเวลาประมาณ 17:00 น. เจ้าหน้าที่ก็เริ่มตั้งแผงเหล็กกั้นด้านหน้า และจะกั้นให้เกิดช่องว่างตรงกลางตรงกับแนวช่องประตูมีความยาวประมาณนึงด้วย พอเจ้าหน้าที่ตั้งแผงกั้นเสร็จนักท่องเที่ยวก็เข้ามาจับจองพื้นที่ทันที ในขณะนี้ภายในปราสาทก็ยังเดินชมและถ่ายรูปได้อยู่ ผมยืนรอจนดวงอาทิตย์หายลับเข้าด้านหลังปราสาทในเวลาประมาณ 17:28 น.
เวลาเดินมาถึงประมาณ 18:00 น. นักท่องเที่ยวข้างในปราสาทไม่มีแล้ว และฝูงชนที่ลานด้านหน้าปราสาทเริ่มยืนนิ่ง ราวกับต้องมนตร์สะกดให้ทุกสายตาจ้องตรงเข้าไปยังช่องประตู เวลา 18:13 น. เริ่มมีบางคนยกกล้องถ่ายรูป (ส่วนใหญ่จะใช้โทรศัพท์มือถือ) ขึ้นมาจัดองค์ประกอบภาพ และถึงเวลาที่ทุกคนเฝ้ารอมาเป็นชั่วโมงๆ 18:15 ทุกมือพร้อมใจกันยกกล้องขึ้นมาสุดแขนรวมถึงไม้เซลฟี่ยาวด้วย ในขณะที่ช่องประตูทุกช่องไม่มีแสงใดๆมากระทบ รวมถึงท้องฟ้าก็มีแสงสีที่ไม่ได้เปลี่ยนไปอะไรเลย ตอนนี้ผมมองเห็นแต่ ศิวลึงค์ ตั้งประดิษฐานอยู่กลางช่องประตูเท่านั้น แล้วจะรออะไร...กลับบ้านสิครับ