ปราสาทเมืองต่ำ (Prasat Mueang Tam) คำว่า "เมืองต่ำ" ที่ปัจจุบันเราใช้เรียกชื่อโบราณสถานแห่งนี้ ไม่ใช่ชื่อดั้งเดิมของปราสาทจริงๆ แต่มาจากชาวบ้านพื้นเมืองสมัยก่อนใช้เรียกกัน เพราะเห็นว่าปราสาทนี้เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่ำ เมื่อเทียบกับ พนมรุ้ง (Phanom Rung) ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนที่สูงกว่า และคาดว่าน่าจะเป็นศาสนสถานใน ศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย (Sivaite Hinduism) เนื่องจากได้ขุดค้นพบ ศิวลึงค์ (Linga) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทน องค์พระศิวะ (The God Siva) เทพเจ้าสูงสุดของลัทธินี้ในบริเวณ ปราสาทประธาน (The Principal Tower)
ปราสาทเมืองต่ำ หรือ ปราสาทหินเมืองต่ำ มีสถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นตามแบบอิทธิพลศิลปะเขมรแบบ บาปวนตอนต้น (Early Baphuon) มีลักษณะเป็นเทวสถานสร้างขึ้นเพื่อถวาย พระศิวะ หรือ พระอิศวร ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 900 กว่าปีมาแล้ว ก่อสร้างด้วยวัสดุ 3 ชนิดคือ อิฐ (Brick), หินทราย (Sandstone) และ ศิลาแลง (Laterite) แผนผัง ปราสาทเมืองต่ำ โดยรวมหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเหมือนกับ ปราสาทพนมรุ้ง ประกอบไปด้วยสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ คือ กำแพงแก้วและโคปุระ(ซุ้มประตู), ลานปราสาทและสระน้ำ 4 สระ, ระเบียงคดและโคปุระ(ซุ้มประตู), กลุ่มปราสาทอิฐ 5 องค์ และ บรรณาลัย 2 หลัง
เริ่มจากผ่านทางเข้าประตูเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชมโบราณสถาน เราจะพบกับ หน้าบัน (Pediment) สลักภาพ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ (Indra on Airavata) และใกล้ๆกันเป็น ทับหลัง (Lintel) สลักภาพ พระอินทร์ประทับเหนือหน้ากาล (Indra on Kala) ซึ่ง หน้ากาล มีลักษณะเป็นรูปใบหน้ายักษ์ปนสิงห์ ปากกว้างเห็นแต่ฟันบนแต่ไม่มีลำตัว ทั้ง หน้าบัน และ ทับหลัง ที่ตั้งแสดงนี้เป็นของ ปราสาทประธาน ศิลปะเขมรแบบบาปวน ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16
จากนั้นเราก็เดินต่อไปยังตัว ปราสาทเมืองต่ำ ที่มี กำแพงแก้ว (The Boundary Wall) เป็นกำแพงชั้นนอกก่อสร้างด้วย ศิลาแลง สูงประมาณ 2.7 เมตรล้อมรอบโบราณสถานทั้งสี่ด้าน โดยมี โคปุระ (Gopura) ซึ่งก็คือ ซุ้มประตู (Archways) อยู่ตรงกลางทั้งสี่ด้าน ก่อสร้างด้วย หินทราย บริเวณพื้นกลางห้องภายในซุ้มประตูกำแพงแก้วทิศตะวันออก มีการสลักลายเส้น รูปดอกบัว 8 กลีบ (8 Petals Lotus) เดินผ่านซุ้มประตูเข้าไปจะพบกับ ลานปราสาท (Courtyard) ด้านในมี สระน้ำ 4 สระขุดเป็นรูปหักมุม (Four L-Shaped Ponds) ก่อเรียงด้วย ศิลาแลง เป็นขั้นบันไดจนไปถึงก้นสระ ขอบสระด้านบนประดับด้วย พญานาค 5 เศียร (Five-headed Naga) แกะสลักด้วย หินทราย เลื้อยทอดตัวไปตามแนวขอบสระ
ถัดจาก ลานปราสาท เข้าไปเป็น ระเบียงคด (The Gallery) เป็นแนวกำแพงชั้นในก่อสร้างด้วย หินทราย และมี โคปุระ (ซุ้มประตู) อยู่กึ่งกลางทั้ง 4 ด้าน หากเราเดินเข้าทางซุ้มประตูระเบียงคดทิศตะวันออก เราก็จะพบกับ บรรณาลัย (Library) 2 หลังอยู่ทางซ้ายและขวา เป็นห้องสมุดก่อสร้างด้วย อิฐ ส่วนบริเวณตรงกลางด้านหน้าของเราเป็น กลุ่มปราสาทอิฐ (Group of Brick Towers) 5 องค์ จัดเป็นสิ่งก่อสร้างที่สำคัญของ ปราสาทเมืองต่ำ สร้างอยู่บนฐาน ศิลาแลง เดียวกันมี 2 แถว แถวหน้า 3 องค์ แถวหลัง 2 องค์ องค์กลางแถวหน้าใหญ่ที่สุดเป็น ปราสาทประธาน (The Principal Tower) มีสภาพหักพังไม่เหลือให้เห็น คงเหลือแต่เพียงส่วนฐานเท่านั้น ส่วนอีก 4 องค์ยังอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ที่บนพื้นเราจะเห็น บัวยอดปราสาท (Lotus Bud of the Towers) ซึ่งเป็นส่วนบนของปราสาท สลักจาก หินทราย เป็นรูป ดอกบัว ประดับบนยอดสุดของปราสาทแต่ละหลัง
ปราสาทเมืองต่ำ ตั้งอยู่ในเขต บ้านโคกเมือง ตำบล จระเข้มาก อำเภอ ประโคนชัย จังหวัด บุรีรัมย์ ประเทศ ไทย ห่างจาก เขาพนมรุ้ง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณเพียง 6 กิโลเมตรเท่านั้น เปิดให้เข้าชมได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 06:00-18:00น. โดยมีอัตราค่าธรรมเนียมเข้าชมโบราณสถาน ผู้เข้าชมชาวไทยคนละ 20 บาท, ชาวต่างชาติคนละ 100 บาท และหากจะเข้าชม อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ด้วยสามารถซื้อบัตรเข้าชมทีเดียว 2 แห่งได้ในราคาชาวไทยคนละ 30 บาท (จากราคา 40 บาท), ชาวต่างชาติคนละ 150 บาท (จากราคา 200 บาท) ส่วนที่จอดรถยนต์มีลานจอดฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายครับ
..^_^..